ASEAN

         อาเซียน [ASEAN] 
มีชื่อแบบเต็มยศว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [Association of South East Asian Nations] เป็นองค์การความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในเขตภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ประเทศได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยอาเซียนมีสำนักงานศูนย์กลางตั้งอยู่ที่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย





          อาเซียนมีจุดเริ่มต้นเมื่อ 48 ปีก่อน ประมาณ เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้จับมือร่วมกันตั้งสมาคมอาสา หรือ Association of South East Asia ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ก็ดำเนินการได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผันแปรทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซีย กับประเทศมาเลเซีย
          จนกระทั่งหลายปีต่อมามีการฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างสองประเทศนี้ขึ้นจึงมีการ จัดตั้ง องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค ขึ้นอีกครั้งในปี พ.. 2510 โดยในระยะแรกมีสมาชิกก่อตั้งเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ สิงคโปร์ จน ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ประเทศบรูไนดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก และมีเวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา เข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับต่อมา..




          สัญลักษณ์ของอาเซียน    คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ และความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง





กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
- กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) คือ ธรรมนูญอาเซียนที่จะมีการวางกรอบของกฎหมายและโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการขับเคลื่อนเพื่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 (พ.ศ.2558) เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพในกติกาการทำงานระหว่างกันมากยิ่งขึ้น


          กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยข้อบทต่าง ๆ 13 บท 55 ข้อ มีประเด็นใหม่ที่แสดงความก้าวหน้าของอาเซียน ได้แก่
     (1) การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน     (2) การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการทำตามความตกลงของรัฐสมาชิก     (3) การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก     (4) การให้ผู้นำเป็น ผู้ตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง     (5) การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจได้หากไม่มีฉันทามติ     (6) การส่งเสริมการปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ร่วม     (7) การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที     (8) การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น และ     (9) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้งต่อปี จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละ 3 เสาหลัก และการมีคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน เป็นต้น
         กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 หลังจากที่ประเทศสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันกฎบัตร และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งแรกหลังจากกฎบัตรมีผลบังคับใช้